เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 9. เมตตสูตร
[3] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[4] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง1
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[5] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี2ก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[6] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและความแค้น

เชิงอรรถ :
1 หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและ
ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. 9/220)
2 ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด
ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด 4 สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์
ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่
ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี ตั้งแต่ขณะจิตที่ 2 เป็นต้นไป
เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. 9/221)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :21 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 9. เมตตสูตร
[7] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[8] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน1 ชั้นล่าง2 และชั้นกลาง3
[9] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ4นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[10] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ5
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ6
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ

เชิงอรรถ :
1 ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
2 ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
3 ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. 9/223)
4 สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. 9/224)
5 ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. 9/225) และดู สํ.ส. (แปล)
15/171/228
6 ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.
9/225)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :22 }