เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [2. มุจจลินทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน1
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ2ภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ3ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก4
ภัททิยสูตรที่ 10 จบ
มุจจลินทวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. มุจจลินทสูตร 2. ราชสูตร
3. ทัณฑสูตร 4. สักการสูตร
5. อุปาสกสูตร 6. คัพภินีสูตร
7. เอกปุตตกสูตร 8. สุปปวาสาสูตร
9. วิสาขาสูตร 10. ภัททิยสูตร


เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความ
โศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. 20/171)
2 กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. 20/172)
3 ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ) สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่
ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย) อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ) บาป(ความชั่ว)
มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. 20/172)
4 ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 7/332/173

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :208 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [3. นันทวรรค] 1. กัมมวิปากชสูตร
3. นันทวรรค
หมวดว่าด้วยพระนันทเถระ
1. กัมมวิปากชสูตร
ว่าด้วยการอดกลั้นทุกขเวทนาที่เกิดจากผลกรรม
[21] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลแห่งกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจ อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้ละกรรมทั้งหมด1ได้
กำจัดกรรมที่เป็นดุจธุลี2ที่ตนเคยทำไว้ได้
ไม่มีความยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น3 คงที่
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบอกให้คนช่วยเยียวยา
กัมมวิปากชสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ละกรรมทั้งหมด หมายถึงละกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. 21/174)
2 กรรมที่เป็นดุจธุลี หมายถึงทุกขเวทนียกรรม(กรรมที่พึงเสวยทุกข์) อันเจือด้วยราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 21/175)
3 ดำรงมั่น หมายถึงข้ามโอฆะ 4 ประการได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อุ.อ. 21/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :209 }