เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [1. โพธิวรรค] 10. พาหิยสูตร
คราวนั้น เทวดาที่เป็นญาติสาโลหิต1ในปางก่อนของเขา มีปกติอนุเคราะห์
ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ ได้ทราบความคิดคำนึงของเขา จึงเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่
ได้พูดดังนี้ว่า “พาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคเลย
แม้ปฏิปทาที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคของท่านก็ไม่มี”
พาหิยะ ทารุจีริยะจึงถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
เทวดานั้นตอบว่า “พาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีเมืองชื่อว่าสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็น
พระอรหันต์ด้วย”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะถูกเทวดานั้นทำให้สังเวชแล้ว จึงหลีกไปจาก
ท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเองไปยังเมืองสาวัตถีทันที โดยพักแรมสิ้นราตรีเดียวในที่
ทั้งปวง ได้เข้าไปยังพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยะ ทารุจีริยะ
ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ได้พูดดังนี้ว่า “ท่านขอรับ บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน กระผมต้องการจะเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังละแวกบ้าน”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระเชตวัน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ

เชิงอรรถ :
1 ญาติ หมายถึงบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดา
มารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาว
พี่ชายน้องชาย เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. 2/76/227)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :184 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [1. โพธิวรรค] 10. พาหิยสูตร
ที่สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว ทรงคุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นพระนาคะ1
ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้า หมอบลงแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ
สุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ
ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ 2 พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็น
ไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ-
ผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร
เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาตตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ 3 พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความ
เป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม
ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ที่ทรงพระนามว่า “นาคะ” เพราะเหตุ 4 ประการ คือ (1) เพราะไม่ถึงอคติ 4 มีฉันทาคติ เป็นต้น
(2) เพราะไม่ทรงกลับไปหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (3) เพราะไม่ทำความชั่วอะไร ๆ (4) เพราะไม่ไปเกิดใน
ภพใหม่ (ขุ.อุ.อ. 10/91)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :185 }