เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [1. โพธิวรรค] 4. นิหุหุงกสูตร
พุทธอุทาน1
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
ตติยโพธิสูตรที่ 3 จบ

4. นิหุหุงกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ
[4] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ2
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา 7 วัน ครั้นล่วงไป 7 วัน พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงออกจากสมาธินั้น
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ3ผู้หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำ
บุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณามรรค พุทธอุทานที่ 1-3 นี้ ทรงเปล่งในราตรีที่ 7 นับแต่วัน
ตรัสรู้ (ขุ.อุ.อ. 3/52)
2 นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทร หรือ
กร่างของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(ขุ.อุ.อ. 4/53, Pali-English Dictionary, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)
3 พราหมณ์หุหุกชาติ เป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบ
เที่ยวตวาดว่า หึหึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ขุ.อุ.อ. 4/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :176 }