เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 7. ติโรกุฑฑสูตร
[6] ในเปตวิสัย1นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย) เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[7] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[8] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[9] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ
ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า
‘ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา’
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[10] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

เชิงอรรถ :
1 เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. 7/188)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :16 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 8. นิธิกัณฑสูตร
[11] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[12] ญาติธรรม1นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ

8. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[1] คนเราฝังขุมทรัพย์2ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[2] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย3
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

เชิงอรรถ :
1 ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. 7/190)
2 ขุมทรัพย์ มี 4 ชนิด คือ (1) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (2) ชังคมะ
คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (3) อังคสมะ
คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (4) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. 8/193)
3 ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.
8/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :17 }