เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 5. อานันทเถรวัตถุ
4. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[386] ผู้เพ่งพินิจ ปราศจากธุลี
อยู่ตามลำพัง ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ
บรรลุประโยชน์สูงสุด1
เราเรียกว่า พราหมณ์

5. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[387] ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน
ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน
กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม
พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม
แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช2
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
1 ประโยชน์สูงสุด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. 8/93)
2 พระเดช ในที่นี้หมายถึงเดช 5 อย่าง คือ เดชแห่งศีล เดชแห่งคุณ เดชแห่งปัญญา เดชแห่งบุญ และ
เดชแห่งธรรม (ขุ.ธ.อ. 8/96)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :154 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 7. สารีปุตตเถรวัตถุ
6. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระมีพระภาค เรื่องบรรพชิต
พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[388] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์
เพราะประพฤติสงบ1 เราเรียกว่า สมณะ
ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน2ของตนให้หมดไปได้
เราจึงเรียกว่า บรรพชิต

7. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถา
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[389] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์
ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น
น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์
พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า
[390] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก3ทั้งหลายได้
เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย
ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้น ๆ

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. 8/97)
2 มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/97)
3 อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. 8/99)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :155 }