เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 1. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
12. สุมนสามเณรวัตถุ
เรื่องสุมนสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[382] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา
ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว1
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น2
ภิกขุวรรคที่ 25 จบ

26. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
1. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[383] พราหมณ์3 เธอจงพยายามตัดกระแส4ให้ขาด
จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้
เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้5

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงให้โลกคือขันธ์ 5 สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. 8/90)
2 ขุ.เถร. (แปล) 26/873/484
3 พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา
พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ 392 หน้า 156 (ขุ.ธ.อ. 8/92)
4 กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/92)
5 สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 8/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :152 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 26. พราหมณวรรค 3. มารวัตถุ
2. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 30 รูป ดังนี้)
[384] เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งสอง1
เมื่อนั้น สังโยคะ2ทั้งหมดของเขาผู้รู้อยู่
ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้

3. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้ถามเรื่องฝั่ง ดังนี้)
[385] ผู้ใดไม่มีฝั่งนี้3 ไม่มีฝั่งโน้น4 หรือไม่มีทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
เราเรียกผู้นั้นซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย
ปลอดจากกิเลสแล้วว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งสอง หมายถึงสมถะ และวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. 8/93)
2 สังโยคะ หมายถึงโยคะ(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) มี 4 คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
8/93) และดูความหมายของคำว่า “โยคะ” ใน ขุ.ธ.อ. 2/62, ขุ.ธ.อ. 8/109 ประกอบ
3 ไม่มีฝั่งนี้ หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ว่า “เรา” หรือ
“ของเรา” (ขุ.ธ.อ. 8/106)
4 ไม่มีฝั่งโน้น หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ
ธรรมารมณ์) ว่า “เรา” หรือ “ของเรา” (ขุ.ธ.อ. 8/93)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :153 }