เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 25. ภิกขุวรรค 9. สันตกายเถรวัตถุ
[376] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

8. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[377] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย
เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น

9. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[378] ภิกษุผู้มีกายสงบ1 มีวาจาสงบ2
มีใจสงบ3 มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
และเป็นผู้ละโลกามิสได้
เราเรียกว่าผู้สงบระงับ

เชิงอรรถ :
1 มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)
2 มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)
3 มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 8/72)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :150 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 25. ภิกขุวรรค 11. วักกลิเถรวัตถุ
10. นังคลกูฏเถรวัตถุ
เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[379] ภิกษุ เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง
จงพิจารณาดูตนด้วยตนเอง
ถ้าเธอคุ้มครองตนเองได้แล้ว มีสติ
เธอก็จักอยู่เป็นสุข
[380] ตนแล เป็นที่พึ่งของตน
ตนแล เป็นคติ1ของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน2ให้ดี
เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น

11. วักกลิเถรวัตถุ
เรื่องพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระวักกลิเถระ ดังนี้)
[381] ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์
เลื่อมใสในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท3
อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข4

เชิงอรรถ :
1 เป็นคติ หมายถึงเป็นที่พำนัก หรือเป็นสรณะ (ขุ.ธ.อ. 8/74)
2 สงวนตน หมายถึงป้องกันการเกิดอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดในตน (ขุ.ธ.อ. 8/74)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 หน้า 148 ในเล่มนี้
4 ขุ.เถร. (แปล) 26/11/307

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :151 }