เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 12. อังกุรวัตถุ
12. อังกุรวัตถุ
เรื่องอังกุรเทพบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อังกุรเทพบุตร และอินทกเทพบุตร ดังนี้)
[356] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีราคะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก
[357] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโทสะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก
[358] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโมหะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก
[359] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีความอยากเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
(นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีตัณหาเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากตัณหา จึงมีผลมาก)
ตัณหาวรรคที่ 24 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :145 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 25. ภิกขุวรรค 2. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
25. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
1. ปัญจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 5 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 5 รูป ผู้สำรวมทวาร(ช่องตามร่าง
กาย)รูปละทวาร ดังนี้)
[360] การสำรวมตา เป็นการดี
การสำรวมหู เป็นการดี
การสำรวมจมูก เป็นการดี
การสำรวมลิ้น เป็นการดี
[361] การสำรวมกาย เป็นการดี
การสำรวมวาจา เป็นการดี
การสำรวมใจ เป็นการดี
การสำรวมทวารทั้งปวง เป็นการดี
ภิกษุผู้สำรวมทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้1

2. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ฆ่าหงส์ ดังนี้)
[362] บุคคลผู้สำรวมมือ2 สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน
ยินดีธรรมภายใน3 มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 ทุกข์ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ (ขุ.ธ.อ. 8/47)
2 สำรวมมือ หมายถึงไม่คะนองมือ หรือไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยมือ แม้เท้า วาจา ก็มีนัยเดียวกันนี้ (ขุ.ธ.อ. 8/50)
3 ยินดีธรรมภายใน หมายถึงยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
(ขุ.ธ.อ. 8/50, ขุ.เถร.อ. 1035/468)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :146 }