เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 9. อุปกาชีวกวัตถุ
[352] ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท1
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ

9. อุปกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามา
ถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[353] เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง2 รู้ธรรมทั้งปวง3
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง4 ละธรรมทั้งปวงได้5
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า6

เชิงอรรถ :
1 นิรุตติบท หมายถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา รวมทั้งปฏิสัมภิทาที่เหลืออีก 3 อย่าง (อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา
และปฏิภาณปฏิสัมภิทา) (ขุ.ธ.อ. 8/32)
2 ธรรม หมายถึงธรรม 3 ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 8/34)
3 ธรรม หมายถึงธรรม 4 ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 8/34)
4 มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่เปื้อนด้วยตัณหาและทิฏฐิในธรรม 3 ระดับนั้น (ขุ.ธ.อ. 8/34)
5 ละธรรมทั้งปวงได้ หมายถึงละธรรม 3 ระดับ กล่าวคือละธรรมชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร และชั้น
อรูปาวจรได้ (ขุ.ธ.อ. 8/34)
6 หมายถึงเมื่อรู้เองได้อย่างนี้แล้ว จะต้องอ้างใครเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อีกเล่า (ขุ.ธ.อ. 8/34) และดู
วิ.ม. (แปล) 4/11/11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :143 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 11. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
10. สักกเทวราชวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเหล่าเทวดา ดังนี้)
[354] การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง1

11. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องอปุตตกเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[355] โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง2
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์
คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเองดุจทำลายคนอื่น

เชิงอรรถ :
1 การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง หมายถึงบุคคลจะให้หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุข
ส่วนรวมได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จนรู้ว่าคุณประโยชน์ของการให้หรือการเสียสละว่าดีอย่างไรเสียก่อน จึงจะ
ให้หรือเสียสละได้ หากไม่ได้ฟังธรรม การให้สิ่งอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง หมายถึงรสอื่น ๆ เช่น รสสุธาโภชน์ของเทวดา ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ต้อง
เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่รสแห่งพระธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ และโลกุตตรธรรม 9 ประการ
เป็นรสแห่งความสุขที่ประเสริฐสุด
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง หมายถึงความยินดีอื่น ๆ เช่น ความยินดีบุตร ธิดา ทรัพย์สิน
สตรี หรือการขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยให้เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่การแสดงธรรม
การได้ฟังธรรม หรือการแนะนำธรรม ย่อมก่อให้เกิดปีติสุข และเป็นปัจจัยให้บรรลุอรหัตตผล สิ้นทุกข์ใน
สังสารวัฏได้
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง หมายถึงอรหัตตผลที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหานั้นเป็นสภาวะ
ที่ครอบงำตัดขาดทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ. 8/36-38)
2 ฝั่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 8/41)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :144 }