เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 2. สูกรโปติกาวัตถุ
[339] บุคคลใดยังมีกระแสตัณหาอันแรงกล้า 36 สาย1
ที่มักไหลไปยังอารมณ์อันน่าพอใจ
ความดำริเป็นอันมากที่อาศัยราคะ
ย่อมนำบุคคลนั้นซึ่งมีความเห็นผิดไป
[340] กระแสตัณหาทั้งหลายไหลไปในอารมณ์ทั้งหมด
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ก็งอกงามขึ้น
พวกเธอ ครั้นเห็นตัณหาดุจเถาวัลย์ที่งอกงามนั้น
จงตัดรากด้วยปัญญา2
[341] สัตว์โลกผู้มีแต่โสมนัสซาบซ่าน
ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา3
มัวแต่จะแสวงหาความสุขสำราญกันอยู่
จึงต้องเข้าถึงชาติและชราร่ำไป
[342] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
หมู่สัตว์ผู้ถูกสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง4ผูกไว้แน่น
ย่อมได้รับความทุกข์ร่ำไปชั่วกาลนาน

เชิงอรรถ :
1 ตัณหา 36 สาย ได้แก่ ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อาศัยอายตนะภายใน 6
(3 x 6 = 18) อาศัยอายตนะภายนอก 6 (3 x 6 = 18) ได้กระแส 36 สายที่ไหลไปในอารมณ์มีรูป
เป็นต้นที่น่าชอบใจ (ขุ.ธ.อ. 8/10)
2 ปัญญา หมายถึงปัญญาอันสัมปยุตด้วยมรรค (ขุ.ธ.อ. 8/10)
3 ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา หมายถึงเปียกชุ่มด้วยยางเหนียว คือตัณหา (ขุ.ธ.อ. 8/10)
4 หมายถึงสังโยชน์ 10 ประการ และกิเลสเครื่องข้อง 7 ประการ มีราคะเป็นต้นผูกไว้หรือเกี่ยวไว้ (ขุ.ธ.อ. 8/11)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :139 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 4. พันธนาคารวัตถุ
[343] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย

3. วิพภันตกวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ดังนี้)
[344] บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว1 มีใจน้อมไปในป่า2
พ้นจากป่าแล้ว3ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม

4. พันธนาคารวัตถุ
เรื่องเรือนจำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้)
[345] นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง

เชิงอรรถ :
1 อาลัย ในที่นี้หมายถึงความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ (ขุ.ธ.อ. 8/14)
2 ป่า ในที่นี้หมายถึงตบะ (ตโปวนะ) (ขุ.ธ.อ. 8/14)
3 ป่า ในที่นี้หมายถึงตัณหาคือเครื่องผูกให้อยู่ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. 8/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :140 }