เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 23. นาควรรค 8. มารวัตถุ
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[329] ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[330] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย1ไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

8. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[331] เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
1 คุณเครื่องความเป็นสหาย หมายถึงคุณธรรมเหล่านี้ คือ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ 10
ธุดงคคุณ 13 วิปัสสนาญาณ มรรค 4 ผล 4 วิชชา 3 อภิญญา 6 อมตมหานิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/7/143)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :136 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 24. ตัณหาวรรค 1. กปิลมัจฉวัตถุ
[332] ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ1ก็นำสุขมาให้
[333] ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา2
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
นาควรรคที่ 23 จบ

24. ตัณหาวรรค
หมวดว่าด้วยตัณหา
1. กปิลมัจฉวัตถุ
เรื่องปลากปิละ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ดังนี้)
[334] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท3
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกผู้ลอยบาปได้แล้ว
(ขุ.ธ.อ. 7/147)
2 ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา หมายถึงศีล 5 ศีล 10 เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องประดับทำให้เกิดความงาม
และความสุขแก่คนทุกเพศทุกวัย ไม่มีล้าสมัยไร้ตำหนิ ต่างจากเครื่องประดับภายนอกที่ทำให้งามเฉพาะ
เพศหรือวัย ใครที่ใช้เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับเพศหรือวัย ก็จะถูกตำหนิ และถูกสงสัยว่า
เป็นบ้าเสียสติ (ขุ.ธ.อ. 7/147)
3 ผู้ประพฤติประมาท หมายถึงผู้มีความเป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา
มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. 8/6)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :137 }