เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 23. นาควรรค 4. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
2. หัตถาจริยปุพพกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง ดังนี้)
[323] แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป1ด้วยยานเหล่านี้
แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว2

3. ปริชิณณพราหมณปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตร 4 คนของพราหมณ์ชรา ดังนี้)
[324] ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้
ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน3

4. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก
ดังนี้)
[325] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น4

เชิงอรรถ :
1 ทิศที่ยังไม่เคยไป หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/126)
2 ที่ชื่อว่า ฝึกแล้ว เพราะฝึกอินทรีย์ได้ในเบื้องต้น ที่ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เพราะอบรมตนได้ด้วยอริยมรรค
(ขุ.ธ.อ. 7/126)
3 นาควัน หมายถึงป่าช้าง เป็นที่อยู่ของช้างพังแม่ของช้างธนปาลกะ (ขุ.ธ.อ. 7/126)
4 ขุ.เถร. (แปล) 26/17/309

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :134 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 23. นาควรรค 7. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
5. สานุสามเณรวัตถุ
เรื่องสานุสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สานุสามเณร ดังนี้)
[326] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน ฉะนั้น1

6. ปาเวรกหัตถิวัตถุ
เรื่องช้างปาเวรกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[327] เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม2
เหมือนช้างกุญชรที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น

7. สัมพหุลภิกขุวัตถุ3
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[328] ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี4 เป็นนักปราชญ์

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร. (แปล) 26/77/331,1133/524
2 หล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. 7/140)
3 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/464/355, ขุ.ชา. (แปล) 27/17-19/303, ขุ.จู. (แปล) 30/131-132/433-434
4 สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม 4 รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 และสัญญาเวทยิต-
นิโรธ 1 (ขุ.จู. (แปล) 30/131/433)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :135 }