เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 9. ติตถิยสาวกวัตถุ
8. นิคัณฐวัตถุ
เรื่องนิครนถ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[316] สัตว์ทั้งหลายผู้ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
และไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[317] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และเห็นสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ

9. ติตถิยสาวกวัตถุ
เรื่องสาวกเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สาวกของเดียรถีย์ ดังนี้)
[318] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ1
และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[319] สัตว์ทั้งหลายผู้รู้สิ่งที่มีโทษว่ามีโทษ
และรู้สิ่งที่ไม่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ
นิรยวรรคที่ 22 จบ

เชิงอรรถ :
1 เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ หมายถึงเห็นสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ 10 ประการ และ
เห็นธรรมที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ (ขุ.ธ.อ. 7/122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :132 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 23. นาควรรค 1. อัตตทันตวัตถุ
23. นาควรรค
หมวดว่าด้วยช้าง
1. อัตตทันตวัตถุ
เรื่องการฝึกตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[320] เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน
เหมือนพญาช้างในสงคราม
อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง
เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล
[321] คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้
ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว1 เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
[322] ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น2

เชิงอรรถ :
1 ฝึกตนได้แล้ว หมายถึงฝึกตนได้ด้วยอริยมรรค 4 (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค) (ขุ.ธ.อ. 7/125)
2 ขุ.ม. (แปล) 29/90/282, ขุ.จู. (แปล) 30/18/117-118

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :133 }