เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 7. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
6. อิสสาปกติอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงขี้หึง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงขี้หึงและแก่บริษัท 4 ดังนี้)
[314] ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดี ทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลังบุคคลย่อมไม่เดือดร้อน

7. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในเมืองชายแดน ดังนี้)
[315] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
เธอทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะ1อย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมเศร้าโศก แออัดอยู่ในนรก2

เชิงอรรถ :
1 ขณะ หมายถึงเวลา หรือสมัย มี 4 คือ (1) ขณะแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (2) ขณะแห่งการเกิด
ในมัชฌิมประเทศ (3) ขณะแห่งการได้สัมมาทิฏฐิ (4) ขณะแห่งอายตนะทั้ง 6 ไม่วิกลวิกาล (ขุ.ธ.อ. 7/230)
2 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/653/452, 1004/504

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :131 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 22. นิรยวรรค 9. ติตถิยสาวกวัตถุ
8. นิคัณฐวัตถุ
เรื่องนิครนถ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[316] สัตว์ทั้งหลายผู้ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
และไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[317] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และเห็นสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ

9. ติตถิยสาวกวัตถุ
เรื่องสาวกเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สาวกของเดียรถีย์ ดังนี้)
[318] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ1
และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[319] สัตว์ทั้งหลายผู้รู้สิ่งที่มีโทษว่ามีโทษ
และรู้สิ่งที่ไม่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ
นิรยวรรคที่ 22 จบ

เชิงอรรถ :
1 เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ หมายถึงเห็นสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ 10 ประการ และ
เห็นธรรมที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ (ขุ.ธ.อ. 7/122)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :132 }