เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 6. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
[298] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระสงฆ์เป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[299] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในกายเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[300] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[301] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในการเจริญภาวนา
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

6. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี ดังนี้)
[302] การบวชเป็นของยาก1
ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก

เชิงอรรถ :
1 การบวช ที่ชื่อว่า เป็นของยาก เพราะจะต้องสละโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติแล้วมอบกายถวายชีวิต
ในพระศาสนานี้จึงจะบวชได้ (ขุ.ธ.อ. 7/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :126 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 8. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์1
การอยู่ร่วมกับคนเสมอกันเป็นทุกข์
การเดินทางไกล2ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเป็นผู้เดินทางไกล
และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้

7. จิตตคหปติวัตถุ
เรื่องจิตตคหบดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[303] คนมีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล3
เพียบพร้อมด้วยยศ4และโภคทรัพย์
จะไปสู่ถิ่นใด ๆ ย่อมได้รับการบูชาในถิ่นนั้น ๆ

8. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรื่องนางจูฬสุภัททา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ดังนี้)
[304] สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์ ฉะนั้น
อสัตบุรุษทั้งหลาย ณ ที่นี้ย่อมไม่ปรากฏ
เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น5

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติราชกิจของพระราชา หรือกิจของอิสรชน จะต้องสงเคราะห์ชนข้างเคียง
และให้ทานแก่สมณพราหมณ์ เพราะฉะนั้น การครองเรือนจะให้สมบูรณ์เต็มที่เป็นไปได้ยาก ถ้าครองเรือน
ไม่ดี ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้ (ขุ.ธ.อ. 7/98)
2 การเดินทางไกล หมายถึงการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. 7/99)
3 ศีล ในที่นี้หมายถึงศีลสำหรับผู้ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. 7/100)
4 ยศ ในที่นี้หมายถึงความมีบริวาร (ขุ.ธ.อ. 7/100)
5 ขุ.ม. (แปล) 29/191/540

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :127 }