เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 4. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
3. ภัททิยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองภัททิยะผู้ขวนขวายในการ
ประดับเขียงเท้า ดังนี้)
[292] ภิกษุเหล่าใดละทิ้งกิจที่ควรทำ1
แต่กลับทำกิจที่ไม่ควรทำ2
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้ถือตัวจัด มัวแต่ประมาท
[293] ส่วนภิกษุเหล่าใดมีสติตั้งมั่นในกาย3เป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นหมั่นทำความเพียรในกิจที่ควรทำ
ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมถึงการสูญสิ้นไป

4. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[294] บุคคลฆ่ามารดา4 ฆ่าบิดา5
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง 2 พระองค์ได้6

เชิงอรรถ :
1 กิจที่ควรทำ หมายถึงการรักษาศีล การอยู่ป่า การถือธุดงควัตร และการเจริญภาวนา (ขุ.ธ.อ. 7/90)
2 กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงการประดับร่ม รองเท้า เขียงเท้า บาตร ถลกบาตร ประคตเอว และอังสะ (ขุ.ธ.อ. 7/90)
3 มีสติตั้งมั่นในกาย หมายถึงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. 7/90)
4 มารดา หมายถึงตัณหาที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้งสาม (ขุ.ธ.อ. 7/92)
5 บิดา หมายถึงอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นเรา) (ขุ.ธ.อ. 7/92)
6 กษัตราธิราชทั้ง 2 พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า
ขาดสูญ) (ขุ.ธ.อ. 7/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :124 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 5. ทารุสากฏิกวัตถุ
ฆ่าชาวแว่นแคว้น1พร้อมเจ้าพนักงาน2แล้ว
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์3อยู่อย่างไร้ทุกข์
[295] บุคคลฆ่ามารดา ฆ่าบิดา
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง 2 พระองค์ได้
ทำลายทางเสือผ่านที่ 54 ได้
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์อยู่อย่างไร้ทุกข์

5. ทารุสากฏิกวัตถุ
เรื่องนายทารุสากฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระราชา และนายทารุสากฏิกะ พร้อม
ครอบครัว ดังนี้)
[296] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[297] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระธรรมเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

เชิงอรรถ :
1 แว่นแคว้น หมายถึงอายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ (ขุ.ธ.อ. 7/92)
2 เจ้าพนักงาน หมายถึงนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี) (ขุ.ธ.อ. 7/92)
3 พราหมณ์ หมายถึงพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. 7/92)
4 ทางเสือผ่านที่ 5 หมายถึงวิจิกิจฉานิวรณ์ (ขุ.ธ.อ. 7/93)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :125 }