เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 2. กุกกุฏณฑขาทิกาวัตถุ
21. ปกิณณกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
1. อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ
เรื่องบุพกรรมของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[290] ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่1
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่2

2. กุกกุฏัณฑขาทิกาวัตถุ
เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษิณีและนางกุลธิดา ดังนี้)
[291] ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นต้องเกี่ยวพันกับเวร ไม่พ้นจากเวรไปได้

เชิงอรรถ :
1 สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขในนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/87)
2 ดู ขุ.ขุ. แปลในเล่มนี้ ข้อ 18 หน้า 14

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :123 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 4. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
3. ภัททิยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองภัททิยะผู้ขวนขวายในการ
ประดับเขียงเท้า ดังนี้)
[292] ภิกษุเหล่าใดละทิ้งกิจที่ควรทำ1
แต่กลับทำกิจที่ไม่ควรทำ2
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้ถือตัวจัด มัวแต่ประมาท
[293] ส่วนภิกษุเหล่าใดมีสติตั้งมั่นในกาย3เป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นหมั่นทำความเพียรในกิจที่ควรทำ
ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมถึงการสูญสิ้นไป

4. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[294] บุคคลฆ่ามารดา4 ฆ่าบิดา5
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง 2 พระองค์ได้6

เชิงอรรถ :
1 กิจที่ควรทำ หมายถึงการรักษาศีล การอยู่ป่า การถือธุดงควัตร และการเจริญภาวนา (ขุ.ธ.อ. 7/90)
2 กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงการประดับร่ม รองเท้า เขียงเท้า บาตร ถลกบาตร ประคตเอว และอังสะ (ขุ.ธ.อ. 7/90)
3 มีสติตั้งมั่นในกาย หมายถึงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. 7/90)
4 มารดา หมายถึงตัณหาที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้งสาม (ขุ.ธ.อ. 7/92)
5 บิดา หมายถึงอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นเรา) (ขุ.ธ.อ. 7/92)
6 กษัตราธิราชทั้ง 2 พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า
ขาดสูญ) (ขุ.ธ.อ. 7/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :124 }