เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 12. ปฏาจาราวัตถุ
11. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[287] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์
มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ1
ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป
เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น

12. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้)
[288] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
[289] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ 20 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ขุ.ธ.อ. 7/76)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :122 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 21. ปกิณณกวรรค 2. กุกกุฏณฑขาทิกาวัตถุ
21. ปกิณณกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
1. อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ
เรื่องบุพกรรมของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[290] ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่1
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่2

2. กุกกุฏัณฑขาทิกาวัตถุ
เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษิณีและนางกุลธิดา ดังนี้)
[291] ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นต้องเกี่ยวพันกับเวร ไม่พ้นจากเวรไปได้

เชิงอรรถ :
1 สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขในนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/87)
2 ดู ขุ.ขุ. แปลในเล่มนี้ ข้อ 18 หน้า 14

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :123 }