เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 8. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
7. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้)
[282] ปัญญา1เกิดเพราะการประกอบ2
และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง 2 ทางนี้แล้ว
บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น

8. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[283] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า3 แต่อย่าตัดต้นไม้
เพราะภัย4ย่อมเกิดจากป่า
เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว5
จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
1 ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา (ขุ.ธ.อ. 7/66, อภิธา.ฏีกา 152-
154/121)
2 การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม 38 ประการ (ขุ.ธ.อ. 7/66)
3 ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 7/68)
4 ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. 7/68)
5 หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่น ๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.ธ.อ. 7/69)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :120 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 10. มหาธนวาณิชวัตถุ
[284] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า
แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย
ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน
เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น

9. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้)
[285] เธอจงตัดความรักของตน
เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล
จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ1เท่านั้น
เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว

10. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้)
[286] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน”
ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย2ที่จะมาถึงตน

เชิงอรรถ :
1 ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ 8 ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/72)
2 อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. 7/74)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :121 }