เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 6. สูกรเปตวัตถุ
5. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[280] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง
แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ1 ปราศจากความเพียร
เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง2ด้วยปัญญา

6. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[281] บุคคลพึงรักษาวาจา3 พึงสำรวมใจ4
และไม่พึงทำความชั่วทางกาย5
พึงชำระกรรมบถทั้ง 3 ประการนี้ให้หมดจด
จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้

เชิงอรรถ :
1 มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก 3 ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
(ขุ.ธ.อ. 7/59)
2 ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. 7/59)
3 รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต 4 อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก
การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. 7/64)
4 สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. 7/64)
5 ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุริต 3 อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. 7/64)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :119 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 8. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
7. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้)
[282] ปัญญา1เกิดเพราะการประกอบ2
และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง 2 ทางนี้แล้ว
บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น

8. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[283] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า3 แต่อย่าตัดต้นไม้
เพราะภัย4ย่อมเกิดจากป่า
เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว5
จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
1 ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา (ขุ.ธ.อ. 7/66, อภิธา.ฏีกา 152-
154/121)
2 การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม 38 ประการ (ขุ.ธ.อ. 7/66)
3 ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 7/68)
4 ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. 7/68)
5 หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่น ๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.ธ.อ. 7/69)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :120 }