เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 19. ธัมมัฏฐวรรค 10. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
9. อริยพาฬิสิกวัตถุ
เรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามชื่อนายพรานเบ็ด นายพรานเบ็ดทูลตอบว่าชื่ออริยะ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถานี้แก่เขา ดังนี้)
[270] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะยังเบียดเบียนสัตว์อยู่
แต่ชื่อว่า อริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง

10. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[271] ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงมีศีล1และวัตร2
แม้ด้วยความเป็นพหูสูต3 ด้วยการได้สมาธิ4
หรือด้วยการนอนในที่สงัด
[272] หรือด้วยการรู้ประจักษ์ว่าเราได้สัมผัสเนกขัมมสุข5
ที่ปุถุชนไม่เคยได้สัมผัส
แต่ถ้าเธอยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ
ก็อย่าไว้วางใจ
ธัมมัฏฐวรรคที่ 19 จบ

เชิงอรรถ :
1 ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล 4 (ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล)
(ขุ.ธ.อ. 7/52)
2ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 97 ในเล่มนี้
3ความเป็นพหูสูต หมายถึงเรียนปิฎก 3 (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) (ขุ.ธ.อ. 7/52)
4สมาธิ หมายถึงสมาบัติ 8 (รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4) (ขุ.ธ.อ. 7/52)
5เนกขัมมสุข หมายถึงสุขของพระอนาคามี (ขุ.ธ.อ. 7/52)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 20. มัคควรรค 1. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
20. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
1. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 500 รูป ดังนี้)
[273] บรรดามรรค มรรคมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัจจะ อริยสัจ 4 ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรม วิราคธรรม1ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า2ตถาคตผู้มีจักษุ3 ประเสริฐที่สุด4
[274] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ
คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง
[275] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
[276] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้5

เชิงอรรถ :
1 วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 7/54)
2 สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. 7/54)
3 จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. 3/13/17)
4 อภิ.ก. 37/872/496
5 เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. 7/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :117 }