เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 12. สุภัททปริพาชกวัตถุ
11. อุชฌานสัญญิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระอุชฌานสัญญีผู้เที่ยวจับผิดภิกษุ จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[253] ผู้ที่คอยแต่สอดส่ายหาโทษคนอื่น
คอยเพ่งโทษอยู่เนืองนิตย์
จะมีอาสวะพอกพูนยิ่งขึ้น
และห่างไกลจากความสิ้นอาสวะโดยแท้

12. สุภัททปริพาชกวัตถุ
เรื่องสุภัททปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก ดังนี้)
[254] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก1
หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในปปัญจธรรม2
แต่พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีปปัญจธรรม
[255] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก
ไม่มีสังขาร3ที่เที่ยงแท้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความหวั่นไหว
มลวรรคที่ 18 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีสมณะภายนอก หมายถึงไม่มีสมณะผู้ดำรงอยู่ในอริยมรรคและอริยผลภายนอกพระพุทธศาสนา
(ขุ.ธ.อ. 7/37)
2ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. 7/37)
3สังขาร ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.ธ.อ.7/37)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :111 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 19. ธัมมัฏฐวรรค 2. ฉัพพัคคิยวัตถุ
19. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม
1. วินิจฉยมหามัตตวัตถุ
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
(ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษารับสินบนแล้วตัดสินคดี จึงกราบทูล
ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสพระคาถา ดังนี้)
[256] ผู้ที่ตัดสินคดีโดยผลีผลาม1
ไม่ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี
เหตุแห่งคดีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงทั้งสอง
[257] พิพากษาผู้อื่นโดยไม่ผลีผลาม
โดยเที่ยงธรรม โดยสม่ำเสมอ
ผู้มีปัญญา มีธรรมคุ้มครองนั้น
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม

2. ฉัพพัคคิยวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[258] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก
แต่ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงจะชื่อว่า เป็นบัณฑิต.

เชิงอรรถ :
1 ตัดสินคดีโดยผลีผลาม หมายถึงดำรงอยู่ในอคติ 4 มีฉันทาคติเป็นต้นแล้วตัดสินคดีโดยมุสาวาท เช่น ทำผู้
ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือทำผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ขุ.ธ.อ. 7/39)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :112 }