เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 4. โลลุทายีวัตถุ
3. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[240] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก
ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา1
ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น

4. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและไม่
ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[241] มนตร์2มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร3เป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน4 เป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาท5 เป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
1 โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย 4 แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้
ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย 4 แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. 7/11)
2 มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. 7/13)
3 ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. 7/13)
4 ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง
(ขุ.ธ.อ. 7/13)
5 ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต
หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง 6 (ขุ.ธ.อ. 7/13)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :107 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 18. มลวรรค 6. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
5. อัญญตรกุลปุตตวัตถุ
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุลบุตรคนหนึ่งซึ่งมีภรรยามักนอกใจ ดังนี้)
[242] สตรีมีความประพฤติชั่ว1เป็นมลทิน
ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
บาปธรรม2เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[243] มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา3
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละมลทินนั้นให้ได้
แล้วเป็นอยู่อย่างผู้ปราศจากมลทินเถิด

6. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
เรื่องจูฬสารีภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระจูฬสารีผู้เป็นหมอปรุงยาให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับ
โภชนะ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[244] ผู้ไม่มีความละอาย กล้าเหมือนกา
ชอบทำลายคนอื่น ชอบเอาหน้า
มีความคะนอง มีพฤติกรรมสกปรก เป็นอยู่สบาย
[245] ส่วนผู้มีความละอาย
แสวงหาความบริสุทธิ์เป็นนิตย์
ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความคะนอง
มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา เป็นอยู่ลำบาก

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติชั่ว หมายถึงการประพฤตินอกใจสามี (ขุ.ธ.อ. 7/14, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/15-18/279)
2 บาปธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลธรรมทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. 7/15)
3 ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/15/241-242

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :108 }