เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 6. รตนสูตร
[4] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[5] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิ1ใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น2ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[6] บุคคล 108 จำพวก3ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล 4 คู่ เป็นสาวกของพระสุคต

เชิงอรรถ :
1 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. 14/136/121) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล
โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. 6/158)
2 สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. 6/159)
3 บุคคล 108 จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน 3 จำพวก คือ (1) เอกพีชี (2) โกลังโกละ (3) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี 3 จำพวก คือ (1) ผู้บรรลุผลในกามภพ (2) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (3) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน 3 จำพวก และพระสกทาคามี 3 จำพวก นับโดยปฏิปทา 4 ประการ จึงได้บุคคล 24
จำพวก (6 x 4 = 24) รวมกับพระอนาคามี 4 ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
อีกชั้นละ 5 จำพวก (4 x 5 = 20) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก 4 จำพวก (20 + 4 = 24) เป็น
บุคคล 48 จำพวก (24 + 24 = 48) รวมกับพระอรหันต์ 2 จำพวก คือ (1) สุขวิปัสสก (2) สมถยานิก
เป็นบุคคล 50 จำพวก (48 + 2 = 50) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก 4 จำพวก เป็น
บุคคล 54 จำพวก (50 + 4 = 54)
บุคคลเหล่านี้มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ 54 จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ 54 จำพวก จึงเป็น
พระอริยบุคคล 108 จำพวก (54 + 54 = 108) (ขุ.ขุ.อ. 6/159-160) นี้คือนัยโดยพิสดาร
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล 8 จำพวก คือ (1) พระโสดาบัน (2) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล (3) พระสกทาคามี (4) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (5) พระอนาคามี
(6) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (7) พระอรหันต์ (8) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(ขุ.ขุ.อ. 6/160)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :10 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 6. รตนสูตร
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[7] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า1
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[8] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[9] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง

เชิงอรรถ :
1 แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. 6/161) กากณึก เป็นมาตราเงิน
อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :11 }