เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 2. ปฐมวิวาทมูลสูตร
2. ปฐมวิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท สูตรที่ 1
[42] พระอุบาลีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มูลเหตุแห่งวิวาทมีเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ
มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
1. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
2. แสดงธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
3. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘เป็นวินัย’
4. แสดงวินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
5. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้
กล่าวไว้’
6. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้
กล่าวไว้’
7. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
8. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
9. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
10. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการนี้แล
ปฐมวิวาทมูลสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :94 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 3. ทุติยวิวาทมูลสูตร
3. ทุติยวิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท สูตรที่ 2
[43] พระอุบาลีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มูลเหตุแห่งวิวาทมี
เท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ
มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
1. แสดงอนาบัติว่า ‘เป็นอาบัติ’
2. แสดงอาบัติว่า ‘เป็นอนาบัติ’
3. แสดงอาบัติเบาว่า ‘เป็นอาบัติหนัก’
4. แสดงอาบัติหนักว่า ‘เป็นอาบัติเบา’
5. แสดงอาบัติชั่วหยาบ1ว่า ‘ไม่เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
6. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า ‘เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
7. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ2’
8. แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ’
9. แสดงอาบัติที่ทำคืนได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนไม่ได้’
10. แสดงอาบัติที่ทำคืนไม่ได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนได้3’
อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการนี้แล
ทุติยวิวาทมูลสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 อาบัติชั่วหยาบ หมายถึงอาบัติปาราชิก 4 สิกขาบท และอาบัติสังฆาทิเสส 13 สิกขาบท ดู วินัยปิฎกแปล
เล่มที่ 1 ข้อ 399 หน้า 511
2 อาบัติมีส่วนเหลือ หมายถึงสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต อาบัติไม่มี
ส่วนเหลือ หมายถึงปาราชิก 4 (องฺ.เอกก.อ. 1/150/85)
3 ข้อ 43 ดู อังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ 20 ข้อ 150-159 หน้า 21

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :95 }