เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. อุปาลิวรรค 1. อุปาลิสูตร
4. อุปาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุบาลี
1. อุปาลิสูตร
ว่าด้วยพระอุบาลีทูลถามประโยชน์แห่งการบัญญัติสิกขาบท
[31] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระตถาคตทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงแสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวกโดยอาศัยอำนาจ
ประโยชน์เท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ตถาคตบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์
แก่เหล่าสาวกโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ
อำนาจประโยชน์ 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก1
4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
5. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
7. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว

เชิงอรรถ :
1 บุคคลผู้เก้อยาก ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้ทุศีลที่กำลังล่วงละเมิดสิกขาบท หรือล่วงละเมิดสิกขาบทแล้วก็ไม่
ละอาย ไม่ยอมรับ ทั้งยังรุกรานสงฆ์ว่า “ท่านเห็นหรือ ท่านได้ยินหรือ ข้าพเจ้าทำผิดอะไร พวกท่านยก
อาบัติอะไรขึ้นข่มข้าพเจ้า” (องฺ.ทสก.อ. 3/31/342)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :81 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 4. อุปาลิวรรค 2. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
10. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย1
อุบาลี ตถาคตบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวกโดยอาศัย
อำนาจประโยชน์ 10 ประการนี้แล
อุปาลิสูตรที่ 1 จบ

2. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
ว่าด้วยเหตุงดสวดปาติโมกข์
[32] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุงดสวดปาติโมกข์
มีเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี เหตุงดสวดปาติโมกข์ 10 ประการ
เหตุงดสวดปาติโมกข์ 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
2. กถาว่าด้วยปาราชิกยังทำค้างอยู่
3. อนุปสัมบันนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
4. กถาว่าด้วยอนุปสัมบันยังทำค้างอยู่
5. ผู้บอกลาสิกขานั่งอยู่ในบริษัทนั้น
6. กถาว่าด้วยผู้บอกลาสิกขายังทำค้างอยู่

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 1, 2 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม คือสงฆ์
ข้อ 3, 4 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ 5, 6 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ 7, 8 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ 9, 10 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ 10 คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึงเพื่อเชิดชูค้ำจุนประคับประคองพระวินัย 4 อย่าง คือ สังวรวินัย
ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. 1/39/236-7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :82 }