เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 9. ปฐมโกสลสูตร
บรรดาวาทะนอกศาสนา วาทะว่า ‘ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว อัตภาพนี้ก็ไม่พึงมี
แก่เรา ถ้าเราจักไม่มี ความกังวลอะไรจักไม่มีแก่เรา’ นี้เป็นเลิศ บุคคลผู้มีวาทะ
อย่างนี้ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ความที่ใจไม่ชอบในภพจักไม่มีแก่เขา และความที่ใจชอบ
ในความดับภพ จักไม่มีแก่เขา สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้
สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวาทะนั้น เมื่อเบื่อหน่ายในวาทะนั้น ก็
คลายกำหนัดในวาทะซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (8)
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความหมดจดในสัตว์ชั้นสูงสุดมีอยู่ บุคคลผู้ที่
ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
นี้เลิศกว่าสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ชั้นสูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้น
รู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนว-
สัญญานาสัญญายตนฌานนั้น สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้
สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เมื่อ
เบื่อหน่ายในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ก็คลายกำหนัดในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (9)
ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบัน
มีอยู่ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะ 6 ประการ ตามความเป็นจริง นี้เลิศกว่าสมณ-
พราหมณ์ผู้บัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบัน สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อม
กล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง คำเปล่า คำเท็จ คำไม่เป็น
จริงว่า ‘พระสมณโคดมไม่บัญญัติการกำหนดรู้กาม รูป และเวทนาทั้งหลาย’ ภิกษุ
ทั้งหลาย เราบัญญัติการกำหนดรู้กาม รูป และเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจาก
ตัณหาและมิจฉาทิฏฐิแล้ว ดับแล้ว เยือกเย็นแล้ว จึงบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานใน
ปัจจุบัน (10)
ปฐมโกสลสูตรที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 10. ทุติยโกสลสูตร
10. ทุติยโกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล สูตรที่ 2
[30] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับจากการรบ
ทรงชนะสงครามมาสมพระราชประสงค์แล้ว ได้เสด็จไปยังอาราม โดยพระราชยาน
เท่าที่ยานจะไปได้ เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว เสด็จไปด้วยพระบาทเข้าไปยังอาราม
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินจงกรมอยู่ที่กลางแจ้ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จ
เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ โยมประสงค์จะเฝ้าพระองค์”
ภิกษุเหล่านั้นถวายพระพรว่า “ขอมหาบพิตรจงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระ
วิหารหลังนี้ซึ่งมีประตูปิดสนิทดีแล้ว อย่าทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรง
กระแอม แล้วทรงใช้ปลายพระนขาเคาะบานประตูนิดหน่อยเถิด พระผู้มีพระภาคจัก
ทรงเปิดประตู”
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระวิหารหลังนั้นซึ่งมี
ประตูปิดสนิทดีแล้ว มิได้ทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรงกระแอมแล้วใช้
ปลายพระนขาเคาะบานประตูนิดหน่อย พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูรับ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลจึงเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ซบพระเศียรลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาคแล้วจุมพิตพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดด้วย
พระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
คือพระเจ้าปเสนทิโกศล หม่อมฉัน คือพระเจ้าปเสนทิโกศล”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์
อะไรเล่า จึงทรงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในสรีระนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :76 }