เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 4. มหาจุนทสูตร
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็น
ธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญา
อันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อม
รู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้
ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ...
มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้”
เปรียบเหมือนบุรุษเป็นคนมั่งมีจริง กล่าวอวดว่ามั่งมี เป็นคนมีทรัพย์จริง
กล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนมีโภคะจริง กล่าวอวดว่ามีโภคะ เขาเมื่อมีกิจจำเป็นต้อง
ใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็อาจนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้ คน
ทั้งหลายพึงรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นคนมั่งมีจริง จึงกล่าวอวดว่ามั่งมี เป็นคน
มีทรัพย์จริง จึงกล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนมีโภคะจริง จึงกล่าวอวดว่ามีโภคะ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้เมื่อมีกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็
สามารถนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้” ฉันใด
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ
ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอัน
เจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุ
นั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ
... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้
ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนาอันชั่ว จึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้
ไม่ได้” อย่างนี้แล
มหาจุนทสูตรที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :55 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 5. กสิณสูตร
5. กสิณสูตร
ว่าด้วยบ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์1
[25] ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการนี้
บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณ(กสิณคือดิน)เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
2. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ(กสิณคือน้ำ) ...
3. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ(กสิณคือไฟ) ...
4. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ(กสิณคือลม) ...
5. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ(กสิณคือสีเขียว) ...
6. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ(กสิณคือสีเหลือง) ...
7. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ(กสิณคือสีแดง) ...
8. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ(กสิณคือสีขาว) ...
9. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ(กสิณคือที่ว่างเปล่า) ...
10. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณ(กสิณคือวิญญาณ)เบื้องบน เบื้องต่ำ
เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ 10 ประการ นี้แล
กสิณสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ หมายถึงที่เกิดหรือที่เป็นไปแห่งธรรมทั้งหลายโดยบริกรรมกสิณ
เป็นอารมณ์ คำว่า กสิณ หมายถึงวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงใจให้เป็นสมาธิทั้งหมดหรือสิ้นเชิง กล่าวคือ
วัตถุสำหรับแผ่ไปไม่เหลือ ไม่ปักใจอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานเพียงอารมณ์เดียว (องฺ.ทสก.อ. 3/25/333,
องฺ.ทสก.ฏีกา 3/25/395)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :56 }