เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 2. อธิมุตติปทสูตร
ดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
10. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้า
ถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะ
ที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต 10 ประการนี้แล ที่ตถาคตประกอบแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
สีหนาทสูตรที่ 1 จบ

2. อธิมุตติปทสูตร
ว่าด้วยอธิมุตติบท1
[22] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดัง
นี้ว่า
อานนท์ เรากล้าปฏิญญาในธรรมทั้งหลาย2ที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอธิมุตติบท
นั้น ๆ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อแสดงธรรมโดยวิธีที่บุคคลผู้ปฏิบัติตามแล้วจักรู้ธรรมที่

เชิงอรรถ :
1 อธิมุตติบท หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. 3/22/331)
2 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทศพลญาณ คือพระญาณเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า 10 ประการ (ดูข้อ
21 สีหนาทสูตร) และสัพพัญญุตญาณ คือพระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และ
อนาคต (องฺ.ทสก.อ. 3/22/331)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :47 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 2. อธิมุตติปทสูตร
มีอยู่ว่า ‘มีอยู่’ บ้าง ที่ไม่มีอยู่ว่า ‘ไม่มีอยู่’ บ้าง ที่หยาบว่า ‘หยาบ’ บ้าง ที่ประณีตว่า
‘ประณีต’ บ้าง ที่ไม่ยอดเยี่ยมว่า ‘ไม่ยอดเยี่ยม’ บ้าง ที่ยอดเยี่ยมว่า ‘ยอดเยี่ยม’ บ้าง
หรือเป็นไปได้ที่ผู้ปฏิบัติตามจักรู้สิ่งที่พึงรู้ จักเห็นสิ่งที่พึงเห็น หรือจักทำให้แจ้งสิ่งที่
พึงทำให้แจ้ง
อานนท์ ญาณที่ยอดเยี่ยมกว่าญาณทั้งหลาย คือ ยถาภูตญาณ1 ในธรรม
เหล่านั้น ๆ
กำลังของตถาคต 10 ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะ
ที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
กำลังของตถาคต 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็น
อฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
2. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึด
ถือกรรม ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ2
3. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้
ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง ฯลฯ นี้เป็นกำลังของ
ตถาคต ฯลฯ
4. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความ
เป็นจริง ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ
5. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง ฯลฯ นี้
เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ยถาภูตญาณ ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ คือพระปรีชาหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน
และอนาคต (องฺ.ทสก.อ. 3/22/331)
2 “ฯลฯ” ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในสีหนาทสูตรในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :48 }