เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 1. สีหนาทสูตร
8. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติ
บ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง
40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง 100,000
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป1เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป2เป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น
เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่าง
นั้น ๆ จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ การที่ตถาคต
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้ง
ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรใน
บริษัท
9. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้
ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคต
เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิด

เชิงอรรถ :
1 สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม, ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ
2 วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ, ช่วงระยะเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. 1/12/158)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :46 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 2. อธิมุตติปทสูตร
ดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
10. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้า
ถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะ
ที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต 10 ประการนี้แล ที่ตถาคตประกอบแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
สีหนาทสูตรที่ 1 จบ

2. อธิมุตติปทสูตร
ว่าด้วยอธิมุตติบท1
[22] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดัง
นี้ว่า
อานนท์ เรากล้าปฏิญญาในธรรมทั้งหลาย2ที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอธิมุตติบท
นั้น ๆ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อแสดงธรรมโดยวิธีที่บุคคลผู้ปฏิบัติตามแล้วจักรู้ธรรมที่

เชิงอรรถ :
1 อธิมุตติบท หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. 3/22/331)
2 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทศพลญาณ คือพระญาณเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า 10 ประการ (ดูข้อ
21 สีหนาทสูตร) และสัพพัญญุตญาณ คือพระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และ
อนาคต (องฺ.ทสก.อ. 3/22/331)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :47 }