เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 7. โคปาลสูตร
ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้
เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นย่อม
เปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และบรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม
ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้อื่นแสดงอยู่
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ 8 ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้สติปัฏฐาน 4 ตามความเป็นจริง ภิกษุฉลาดในโคจร
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโน-
กรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :437 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 8. ปฐมสมาธิสูตร
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 11 ประการนี้แล เป็นผู้สามารถถึง
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
โคปาลสูตรที่ 7 จบ

8. ปฐมสมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ สูตรที่ 1
[18] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา
แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่
ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียง
ที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้
สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูป
ที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :438 }