เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 1. สีหนาทสูตร
3. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
1. สีหนาทสูตร1
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[21] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออก
จากที่อาศัยแล้วบิดกาย ชำเลืองดูรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ บันลือสีหนาท 3 ครั้งแล้วก็
หลีกไปหากิน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมันคิดว่า ‘เราอย่าทำให้สัตว์เล็ก ๆ ที่หากิน
อยู่ในที่ไม่สม่ำเสมอต้องถูกฆ่าเลย2’
คำว่า สีหะ นี้ เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อาการที่ตถาคต
แสดงธรรมแก่บริษัท เป็นสีหนาทของตถาคตแท้
กำลังของตถาคต 10 ประการนี้ที่ตถาคตประกอบแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญา-
ฐานะที่องอาจ3 บันลือสีหนาท4 ประกาศพรหมจักร5ในบริษัท6

เชิงอรรถ :
1 ดู ม.มู. 12/148/107-110, องฺ.ฉกฺก. 22/64/398
2 ข้อความนี้อรรถกถาอธิบายว่า พญาราชสีห์บันลือสีหนาท เพราะมีความเอ็นดูต่อสัตว์เล็ก ๆ มีกำลังน้อย
ที่หากินอยู่ในที่ไม่ราบเรียบ ขรุขระ (วิ่งหนีไม่สะดวก) เมื่อมีความหวาดกลัว จะได้วิ่งหนีทันก่อนที่พญา
ราชสีห์จะไปถึง (องฺ.ทสก.อ. 3/21/325)
3 ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง 100 ตัว 1,000 ตัว 100
คอก 1,000 คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง 4 ไม่หวั่นไหว
ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง 100 ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง 8 ได้อย่าง
มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ 4 ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ
ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (องฺ.ทสก.อ. 3/21/326)
4 บันลือสีหนาท หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่น
พระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา 1/403/432)
5 พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี 2 ประการ คือ (1) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณที่แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (2) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณที่แสดงถึงพระมหากรุณา
คุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง 2 นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (องฺ.ทสก.อ. 3/21/327)
6 บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท 8 คือ (1) ขัตติยบริษัท (2) พราหมณบริษัท
(3) คหบดีบริษัท (4) สมณบริษัท (5) จาตุมหาราชิกาบริษัท (6) ตาวติงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์
6 ชั้น) (7) มารบริษัท (8) พรหมบริษัท (ที.สี.อ. 403/297, องฺ.ทสก.อ. 3/21/327)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :43 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 3. มหาวรรค 1. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคต 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตรู้ชัดฐานะ1โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็น
อฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
2. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึด
ถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความ
เป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
3. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง2ตามความเป็นจริง การที่ตถาคต
รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต
ที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักรในบริษัท
4. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด3 มีธาตุที่แตกต่างกัน4ตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความ
เป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เชิงอรรถ :
1 ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า “ฐานะ” เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล
(องฺ.ทสก.อ. 3/21/328)
2 ภูมิทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงคติที่ควรไป(คติ) และคติที่ไม่ควรไป(อคติ) (องฺ.ทสก.อ. 3/21/328)
3 ธาตุหลายชนิด ในที่นี้หมายถึงธาตุ 18 มีจักขุธาตุเป็นต้น (องฺ.เอกก.อ. 1/577/473) และดู อภิ.วิ. 35/
185/105, วิสุทธิ. 3/65
4 ธาตุที่แตกต่างกัน หมายถึงธาตุที่มีลักษณะต่างกัน (องฺ.ทสก.อ. 3/21/329, อภิ.วิ.อ. 760/429)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :44 }