เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 4. สุภูติสูตร
ความเป็นสหายแห่งเหล่าเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษาแล้วจึงเข้าถึง
กายมโนมัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่
ควรทำของตน หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว เปรียบเหมือนภิกษุผู้เป็น
อสมยวิมุต1ไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของตนหรือการสั่งสมกิจที่ตน
ทำแล้ว นันทิยะ พระองค์พึงตั้งสติมั่นภายในปรารภเทวดาอย่างนี้เถิด
นันทิยะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 11 ประการนี้แล ย่อมละ ไม่ยึดมั่น
บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 11 ประการนี้ ย่อมละ ไม่ยึดมั่นบาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่คว่ำ ย่อมไม่กลับมาบรรจุของที่หกแล้ว และ
เปรียบเหมือนไฟที่ลามพ้นไปจากหญ้าแล้ว ย่อมไหม้ของที่ควรไหม้เท่านั้น ย่อมไม่
กลับมาไหม้ของที่ไหม้แล้ว
นันทิยสูตรที่ 3 จบ

4. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่พระสุภูติ
[14] ครั้งนั้น ท่านพระสุภูติกับภิกษุผู้มีศรัทธาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติ
ดังนี้ว่า “สุภูติ ภิกษุนี้2ชื่อไร”

เชิงอรรถ :
1 ภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุต หมายถึงพระขีณาสพผู้หลุดพ้นด้วยอสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่ขึ้นต่อสมัย
หรือชั่วคราวคือยั่งยืนเรื่อยไป) หมายถึงอริยผลโดยเฉพาะอรหัตตผลเป็นโลกุตตรวิมุตติ บางแห่งใช้คำว่า
อสมยวิโมกข์ ตรงกันข้ามกับสมยวิมุตติ หรือสมยวิโมกข์ ซึ่งหมายถึงสมาบัติ 8 เป็นโลกิยวิมุตติ (องฺ.
เอกาทสก.อ. 3/13/384) และดู ม.มู. 12/311/278-280
2 หมายถึงภิกษุผู้เป็นบุตรของอนาถบิณฑิกคหบดี ซึ่งมีศรัทธาออกบวชในสำนักของท่านพระสุภูติเถระผู้เป็นอาว์
ต่อมาพระเถระนำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้พระองค์จะทรงทราบดีว่า ภิกษุนี้เป็นใคร ชื่ออะไร แต่ก็ทรง
ตรัสถามเพื่อปรารภเหตุที่จะแสดงพระธรรมเทศนา (องฺ.เอกาทสก.อ. 3/14/384)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :420 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต 2. อนุสสติวรรค 4. สุภูติสูตร
ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า “ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าข้า”
“สุภูติ ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยศรัทธา เห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระ
ภาคโปรดตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์ก็จักทราบ ณ บัดนี้
ว่า ภิกษุนี้จะเห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาหรือไม่”
“สุภูติ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระสุภูติทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
สุภูติ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
2. ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ
ถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ แม้การที่ภิกษุ
เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐินี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้
มีศรัทธา
3. ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มี
สหายดี มีเพื่อนดีนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
4. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย
ธรรมเป็นเครื่องที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ
นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :421 }