เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 10. ทุติยอริยวาสสูตร
5. เป็นผู้มีปัจเจกสัจจะ1บรรเทาได้
6. เป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี
7. เป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว
8. เป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้
9. เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี
10. เป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ 5 ได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะได้ เป็นผู้ละพยาบาทได้ เป็น
ผู้ละถีนมิทธะได้ เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะได้ เป็นผู้ละวิจิกิจฉาได้ ภิกษุเป็นผู้ละ
องค์ 5 ได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มี
อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยใจที่รักษาด้วยสติ ภิกษุเป็นผู้มี
ธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีอปัสเสนธรรม 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้น
อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง2 ภิกษุเป็นผู้
มีอปัสเสนธรรม 4 ประการ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ปัจเจกสัจจะ หมายถึงความเห็นของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปโดยยึดถือว่า “ความเห็นนี้เท่านั้นจริง ความ
เห็นนี้เท่านั้นจริง” (องฺ.ทสก.อ. 3/20/324)
2 พิจารณาแล้วเสพ หมายถึงพิจารณาแล้วเสพปัจจัย 4 มีจีวรเป็นต้น พิจารณาแล้วอดกลั้น หมายถึง
พิจารณาแล้วอดกลั้นต่อความหนาวเป็นต้น พิจารณาแล้วเว้น หมายถึงพิจารณาแล้วเว้นช้างดุร้าย หรือ
คนพาลเป็นต้น พิจารณาแล้วบรรเทา หมายถึงพิจารณาแล้วบรรเทาอกุศลวิตก มีกามวิตก(ความตรึกใน
ทางกาม) เป็นต้น (ที.ปา. 11/308/200, ที.ปา.อ. 308/204)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :40 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 10. ทุติยอริยวาสสูตร
ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้ เป็นอย่างไร
คือ ปัจเจกสัจจะเป็นอันมาก คือเห็นว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ‘โลกไม่เที่ยง’ บ้าง
‘โลกมีที่สุด’ บ้าง ‘โลกไม่มีที่สุด’ บ้าง ‘ชีวะ1กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน’ บ้าง ‘ชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคต2เกิดอีก’ บ้าง ‘หลังจาก
ตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีก
ก็มี’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่’ บ้าง เหล่านั้น
ทั้งหมดของสมณพราหมณ์จำนวนมากอันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้ กำจัดได้
สละได้ คลายได้ ปล่อยวางได้ ละได้ สละคืนได้ ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละการแสวงหากามได้ ละการแสวงหาภพได้
ระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้ ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่าง
นี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละความดำริในกามได้ เป็นผู้ละความดำริใน
พยาบาทได้ เป็นผู้ละความดำริในวิหิงสาได้ ภิกษุเป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. 1/1/129)
2 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. 65/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :41 }