เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 1. กรชกายวรรค 2. ทุติยนิรยสัคคสูตร
7. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่
กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
8. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
9. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่
มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
10. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา
แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี
โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้
ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ปฐมนิรยสัคคสูตรที่ 1 จบ

2. ทุติยนิรยสัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เกิดในนรกและสวรรค์ สูตรที่ 2
[212] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :349 }