เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 5. อปรปุคควรรค 1. นเสวิตัพพาทิสูตร
[209] บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ย่อมไม่เจริญด้วยปัญญา ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ...
(2-11)
[210] บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น
อันมาก ... ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ย่อมประสพบุญ
เป็นอันมาก
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคล
1. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
2. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
3. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
4. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
5. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
6. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
7. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
8. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
9. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
10. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล ย่อมประสพบุญ
เป็นอันมาก (12)
นเสวิตัพพาทิสูตร จบ
อปรปุคคลวรรคที่ 5 จบ
จตุตถปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :345 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [5. ปัญจมปัณณาสก์] 1. กรชกายวรรค 1. ปฐมนิรยสัคคสูตร
5. ปัญจมปัณณาสก์
1. กรชกายวรรค
หมวดว่าด้วยกรชกาย1
1. ปฐมนิรยสัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในนรกและสวรรค์ สูตรที่ 1
[211] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 10
ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
2. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ
ผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
3. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของบิดามารดา
ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว
ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่ประพฤติธรรม มี
สามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัย
หมายไว้
4. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่
ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือ

เชิงอรรถ :
1 กรชกาย หมายถึงร่างกายที่เกิดจากธุลีคือราคะ (เทียบ ขุ.ม. 29/209/431, ขุ.จู. 30/74/162, ที.สี.ฏีกา
(อภินว) 45/518)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :346 }