เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 11. ชาณุสโสณิสูตร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เลี้ยงอัตภาพในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ดำรงอยู่
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นด้วยอาหารของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน1
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติ
ผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อม
เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกมนุษย์ เลี้ยงอัตภาพในมนุษยโลกนั้น ดำรงอยู่ใน
มนุษยโลกนั้นด้วยอาหารของพวกมนุษย์2
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดา เลี้ยงอัตภาพในเทวโลกนั้น
ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นด้วยอาหารของหมู่เทวดา3
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในภูมิแห่งเปรต เลี้ยงอัตภาพอยู่ในภูมิแห่งเปรตนั้น ดำรงอยู่ในภูมิ
แห่งเปรตนั้นด้วยอาหารของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในภูมิแห่งเปรต หรือเลี้ยงอัตภาพอยู่ใน
ภูมิแห่งเปรตนั้น ดำรงอยู่ในภูมิแห่งเปรตนั้นด้วยปัตติทานมัยกุศล4จากมนุษยโลกนี้
ที่มิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของตนอุทิศให้
พราหมณ์ ภูมิที่ทานสำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นฐานะ”
“ท่านพระโคดม ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นจะไม่เข้าถึงฐานะนั้น
ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น”

เชิงอรรถ :
1 อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน คือ หญ้า ใบไม้เป็นต้น
2 อาหารของมนุษย์ คือ ข้าวสุก เป็นต้น
3 อาหารของหมู่เทวดา คือ สุทธาโภชนะ (ของกินอันเป็นทิพย์, อาหารทิพย์) เป็นต้น
4 อาหารของเปรต(จำพวกหนึ่ง) คือ น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น หรือเปรตอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต
ที่ต้องอาศัยผู้อื่นให้ เรียกว่า ปัตติทานมัยกุศล หมายถึงบุญกุศลที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เป็นวิธีทำบุญ
ด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ข้อ 6 ในบุญกิริยาวัตถุ 10) (องฺ.ทสก.อ. 3/177/377)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :326 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 11. ชาณุสโสณิสูตร
“พราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่าอื่นของตน ผู้เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่
ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น”
“ท่านพระโคดม ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วง
ลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของตนไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น”
“พราหมณ์ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาล
ช้านาน ถึงอย่างไร ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล”
“ท่านพระโคดม ย่อมตรัสข้อกำหนดแม้ในอัฏฐานะหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรากล่าวข้อกำหนดแม้ในอัฏฐานะ คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ
บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และ
เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่ง
ช้างทั้งหลาย ได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ ในกำเนิดแห่งช้างนั้น
เพราะกรรมที่บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งช้างทั้งหลาย และ
เพราะกรรมที่บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาจึงได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และ
เครื่องประดับต่าง ๆ ในกำเนิดแห่งช้างนั้น
พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดใน
กำเนิดแห่งม้า ... หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งโค ... หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งสุนัข ... ได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ
ในกำเนิดแห่งสุนัขนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :327 }