เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 9. ปริกกมนสูตร
9. ปริกกมนสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นทางหลีกเลี่ยง1
[175] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีก
เลี่ยง
ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีกเลี่ยง อะไรบ้าง คือ
1. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
2. เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
3. เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้
ประพฤติผิดในกาม
4. เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
5. เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด
6. เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ
7. เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
8. อนภิชฌาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
9. อพยาบาทเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
10. สัมมาทิฏฐิเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เห็นผิด
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีกเลี่ยง เป็น
อย่างนี้แล
ปริกกมนสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ทางหลีกเลี่ยง ในที่นี้หมายถึงทางเว้นจากความชั่ว (ดูเทียบ สัลเลขสูตร ม.มู. 12/85/58, องฺ.ทสก.อ.
3/175/377)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :318 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 10. จุนทสูตร
10. จุนทสูตร
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร
[176] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร1
เขตกรุงปาวา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามว่า
“จุนทะ เธอชอบใจความสะอาดของใคร”
นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาว
ปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติ
ความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น”
“จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ
ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือ
น้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า ‘มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านควรลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้า จับต้องแผ่นดิน ถ้า
ไม่จับต้องแผ่นดิน ต้องจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด ต้องจับต้องหญ้าเขียวสด
ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด ต้องบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟต้องประคองอัญชลีนอบน้อม
ดวงอาทิตย์ ถ้าไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ ต้องลงน้ำวันละ 3 ครั้ง’ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย
บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างนี้ ข้าพระองค์ชอบใจความ
สะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น”
“จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอ
ไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนความสะอาดใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

เชิงอรรถ :
1 กัมมารบุตร หมายถึงบุตรของช่างทอง (องฺ.ทสก.อ. 3/176/377)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :319 }