เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 1. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
2. ชาณุสโสณิวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิ
1. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาปของพราหมณ์
[167] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่ม
ผ้าไหมคู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณิพราหมณ์ดังนี้ว่า
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหม
คู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร วันนี้เป็นวันอะไรของตระกูลพราหมณ์”
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม วันนี้เป็นวันลอยบาปของ
ตระกูลพราหมณ์”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ท่านพระโคดม ในวันอุโบสถ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ พากันสรงน้ำดำหัว
นุ่งห่มผ้าไหมคู่ใหม่ ทาแผ่นดินด้วยโคมัยสด ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้วนอนใน
ระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ในราตรีนั้น พราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแล้วประคอง
อัญชลีนอบน้อมไฟ 3 ครั้งด้วยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ’ และบำเรอไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำ
มัน และเนยข้นจำนวนมาก พอล่วงราตรีนั้นไปจึงเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำ
ด้วยของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของพราหมณ์
ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
“ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส ขอ
ท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมที่เป็นพิธีลอยบาปในอริยวินัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :301 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [4. จตุตถปัณณาสก์] 2. ชาณุสโสณิวรรค 1. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปาณาติบาต ลอยปาณาติบาต
2. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อทินนาทาน(การลักทรัพย์)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอทินนาทาน ลอยอทินนาทาน
3. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม)มีผลชั่ว
ทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละกาเมสุมิจฉาจาร
ลอยกาเมสุมิจฉาจาร
4. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มุสาวาท(พูดเท็จ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมุสาวาท ลอยมุสาวาท
5. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปิสุณาวาจา(คำส่อเสียด)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปิสุณาวาจา ลอยปิสุณาวาจา
6. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผรุสวาจา(คำหยาบ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละผรุสวาจา ลอยผรุสวาจา
7. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า สัมผัปปลาปะ(คำเพ้อเจ้อ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้
และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละสัมผัปปลาปะ ลอย
สัมผัปปลาปะ
8. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)มีผลชั่วทั้งใน
ภพนี้และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอภิชฌา ลอยอภิชฌา
9. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า พยาบาท(ความคิดร้าย)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละพยาบาท ลอยพยาบาท
10. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :302 }