เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 6. อาหุเนยยสูตร
แสงสว่างของดวงดาวทั้งหมด ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งแสงสว่างของ
ดวงจันทร์ แสงสว่างของดวงจันทร์ ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าแสงสว่างของดวงดาว
เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
ในสารทฤดู เมื่อฝนขาดหายปราศจากเมฆ ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสู่ท้องฟ้า
กำจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งหมด ย่อมส่องแสง แผดแสงเจิดจ้า และแจ่มกระจ่าง
ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
แม่น้ำใหญ่ทั้งหลาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู
แม่น้ำมหี ทั้งหมดย่อมไหลบ่าลงสู่มหาสมุทร น้อมไปสู่มหาสมุทร โน้มไปสู่
มหาสมุทร โอนไปสู่มหาสมุทร มหาสมุทร ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าแม่น้ำใหญ่
เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีความไม่ประมาทเป็นมูล
รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรม
เหล่านั้น
อัปปมาทสูตรที่ 5 จบ

6. อาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
[16] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 10 จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล 10 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
3. ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต1

เชิงอรรถ :
1 ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน) หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ได้สัมผัส
วิโมกข์ 8 ด้วยนามกาย ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมาบัติและสิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา เป็นพระอรหันต์
ผู้ได้ปัญญาวิมุตติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/160, องฺ.นวก.อ. 3/45/316)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :29 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 6. อาหุเนยยสูตร
4. ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต1
5. ท่านผู้เป็นกายสักขี2
6. ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ3
7. ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต4
8. ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี5
9. ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี6
10. ท่านผู้เป็นโคตรภู7
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 10 จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อาหุเนยยสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา) หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ มิได้สัมผัส
วิโมกข์ 8 แต่สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/161)
2 ท่านผู้เป็นกายสักขี (ผู้เป็นพยานในนามกาย) หมายถึงท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยนามกาย และอาสวะ
บางส่วนก็สิ้นไปเพราะรู้เห็นด้วยปัญญา ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงท่านผู้
ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/161)
3 ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ) หมายถึงผู้เข้าใจอริยสัจถูกต้องและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป
เพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มี
ปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/161)
4 ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) หมายถึงเข้าใจอริยสัจถูกต้อง ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุ
โสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/
14/161)
5 ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม) หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญอริยมรรค ดำรงอยู่ใน
โสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีปัญญาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/162)
6 ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา) คือท่านผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุ
โสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/14/162)
7 ท่านผู้เป็นโคตรภู หมายถึงผู้ประกอบด้วยวิปัสสนาจิตที่มีพลังถึงที่สุดโดยเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องกันถึง
โสดาปัตติมรรค, หรือท่านผู้ประกอบด้วยโคตรภูญาณ(ญาณครอบโคตร คือญาณที่เป็นหัวต่อระหว่างภาวะ
ปุถุชนกับภาวะอริยบุคคล)อันมีนิพพานเป็นอารมณ์ หมายเอาผู้ปฏิบัติกำลังจะเข้าสู่ขั้นอริยบุคคลชั้นโสดา-
ปัตติมรรค (องฺ.นวก.อ. 3/8-10/291, องฺ.ทสก.อ. 3/16/322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :30 }