เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 8. ทุติยปัจโจโรหณีสูตร
10. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวิมุตติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวิมุตติ ลอยมิจฉาวิมุตติ
พราหมณ์ พิธีลอยบาปในอริยวินัย เป็นอย่างนี้แล
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของพราหมณ์
ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปในอริยวินัยก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาป
ของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งพิธีลอยบาปในอริยวินัยนี้ ท่าน
พระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ปฐมปัจโจโรหณีสูตรที่ 7 จบ

8. ทุติยปัจโจโรหณีสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาป สูตรที่ 2
[120] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ
2. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสังกัปปะมีผลชั่ว ...
3. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวาจามีผลชั่ว ...
4. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉากัมมันตะมีผลชั่ว ...
5. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาอาชีวะมีผลชั่ว ...
6. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวายามะมีผลชั่ว ...
7. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสติมีผลชั่ว ...
8. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสมาธิมีผลชั่ว ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :274 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 9. ปุพพังคมสูตร
9. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาญาณะมีผลชั่ว ...1
10. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวิมุตติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวิมุตติ ลอยมิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ
ทุติยปัจโจโรหณีสูตรที่ 8 จบ

9. ปุพพังคมสูตร
ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
[121] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ฉันนั้น
ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีสัมมาสังกัปปะ
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีสัมมาวาจา
ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมมีสัมมากัมมันตะ
ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมมีสัมมาอาชีวะ
ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมมีสัมมาวายามะ
ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมมีสัมมาสติ
ผู้มีสัมมาสติ ย่อมมีสัมมาสมาธิ
ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมมีสัมมาญาณะ
ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมมีสัมมาวิมุตติ2
ปุพพังคมสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 119 (ปฐมปัจโจโรหณีสูตร)
2 เป็น 10 ประการ โดยนับจำนวนองค์ธรรมตามข้อ 122

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :275 }