เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 7. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก
โอริมตีรสูตรที่ 6 จบ

7. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาป สูตรที่ 1
[119] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่ม
ผ้าไหมคู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณิพราหมณ์ดังนี้ว่า
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหม
คู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร วันนี้เป็นวันอะไรของตระกูลพราหมณ์”
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม วันนี้เป็นวันลอยบาปของ
ตระกูลพราหมณ์”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ท่านพระโคดม ในวันอุโบสถ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ พากันสรงน้ำดำหัว
นุ่งห่มผ้าไหมคู่ใหม่ ทาแผ่นดินด้วยโคมัยสด ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้วนอนใน
ระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ในราตรีนั้น พราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแล้วประคอง
อัญชลีนอบน้อมไฟ 3 ครั้งด้วยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้
เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ’ และบำเรอไฟให้อิ่มหนำด้วย
เนยใส น้ำมัน และเนยข้นจำนวนมาก พอล่วงราตรีนั้นไปจึงเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลาย
ให้อิ่มหนำด้วยของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของ
พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :272 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 7. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
“ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส
ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมที่เป็นพิธีลอยบาปในอริยวินัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ
2. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสังกัปปะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสังกัปปะ ลอยมิจฉาสังกัปปะ
3. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวาจามีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวาจา ลอยมิจฉาวาจา
4. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉากัมมันตะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉากัมมันตะ ลอยมิจฉากัมมันตะ
5. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาอาชีวะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาอาชีวะ ลอยมิจฉาอาชีวะ
6. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวายามะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวายามะ ลอยมิจฉาวายามะ
7. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสติ ลอยมิจฉาสติ
8. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสมาธิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสมาธิ ลอยมิจฉาสมาธิ
9. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาญาณะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาญาณะ ลอยมิจฉาญาณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :273 }