เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 2. ปัจโจโรหณิวรรค 5. สคารวสูตร
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ1
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ2
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น
บัณฑิตละธรรมดำ แล้วพึงเจริญธรรมขาว3
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ4
ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก5ที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก6
สคารวสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน
1 (องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375)
2 วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ 3 คือ (1) กิเลสวัฏฏ์ วงจรกิเลสประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
(2) กัมมวัฏฏ์ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ (3) วิปากวัฏฏ์ วงจรวิบาก ประกอบด้วย
วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น
(องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375)
3 ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม ได้แก่ กายทุจริต เป็นต้น ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม ได้แก่ กายสุจริต
เป็นต้น (สํ.ม.อ. 3/31-34/196, ขุ.ธ.อ. 4/45-47)
4 วิวัฏฏะ หมายถึงนิพพาน (สํ.ม.อ. 3/31-34/196, องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375)
5 วิเวก หมายถึงกายวิเวก(ความสงัดกาย) จิตตวิเวก(ความสงัดจิต) และอุปธิวิเวก(ความสงัดจากกิเลส)
(องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375)
6 ดู สํ.ม. 19/34/19, ขุ.ธ. 25/85-89/32

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :270 }