เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

1. ราคะ 2. โทสะ
3. โมหะ 4. โกธะ
5. อุปนาหะ 6. มักขะ
7. ปฬาสะ 8. อิสสา
9. มัจฉริยะ 10. มานะ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม 10 ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อภัพพสูตรที่ 10 จบ
อุปาสกวรรคที่ 5 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กามโภคีสูตร 2. ภยสูตร
3. กิงทิฏฐิกสูตร 4. วัชชิยมาหิตสูตร
5. อุตติยสูตร 6. โกกนุทสูตร
7. อาหุเนยยสูตร 8. เถรสูตร
9. อุปาลิสูตร 10. อภัพพสูตร

ทุติยปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :241 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 1. สมณสัญญาวรรค 1. สมณสัญญาสูตร
3. ตติยปัณณาสก์
1. สมณสัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยสมณสัญญา1
1. สมณสัญญาสูตร
ว่าด้วยสมณสัญญา
[101] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา 3 ประการนี้
ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วย่อมให้ธรรม 7 ประการบริบูรณ์
สมณสัญญา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
สมณสัญญาว่า
1. เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์
2. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
3. มารยาทอย่างอื่นที่เราควรทำมีอยู่
สมณสัญญา 3 ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้ธรรม 7
ประการบริบูรณ์
ธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย
2. เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)
3. เป็นผู้ไม่มีพยาบาท (ความคิดร้าย)
4. เป็นผู้ไม่มีมานะ (ความถือตัว)
5. เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

เชิงอรรถ :
1 สมณสัญญา คือความกำหนดหมายรู้ที่เกิดขึ้นแก่สมณะ (องฺ.ทสก.อ. 3/101/372)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :242 }