เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
คหบดี หรือบุตรคหบดีผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ฟังธรรมนั้นแล้ว
ได้ศรัทธาในตถาคต ได้ศรัทธาแล้วพิจารณาเห็นว่า ‘ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมา
แห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้ มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรจะ
ปลงผม และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
สมัยต่อมา เขาได้ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่ เครือญาติน้อยใหญ่แล้ว ปลงผม
และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ1เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย
ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ
เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่
เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
เป็นผู้ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่าง
ไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลาย
ฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้
ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก
จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์
พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วย
ประโยชน์เหมาะแก่เวลา

เชิงอรรถ :
1 สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา สาชีพ หมายถึงสิกขาบท
ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ดูวินัยปิฎกแปล เล่มที่ 1 หน้า 33

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :235 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพีชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว ไม่ฉัน
ตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล1 เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาด
จากการรับธัญญาหารดิบ2 เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและ
กุมารี เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เว้นขาดจาก
การรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง เว้นขาด
จากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ ภิกษุนั้นผู้
ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ชื่อว่าเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ3 ไม่แยกถือ4 ปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยาก

เชิงอรรถ :
1 เวลาวิกาล หมายถึงเวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลังเที่ยง
วันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. 10/75)
2 ธัญญาหารดิบ หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ดมีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกได้ (ที.สี.อ. 10/75) ในคัมภีร์
อภิธานัปปทีปิกา ว่ามี 7 อย่าง คือ (1) ข้าวไม่มีแกลบ (2) ข้าวเปลือก (3) หญ้ากับแก้ (4) ข้าวละมาน
(5) ลูกเดือย (6) ข้าวแดง (7) ข้าวฟ่าง
3 รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ
กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. 1352/
456-7)
4 แยกถือ หมายถึงมองภาพ 2 ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้าว่า
สวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้าย แลขวา ว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า
เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์
(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. 1352/456-7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :236 }