เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้น มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้น เล่น
เครื่องเล่นสำหรับเด็ก คือเล่นไถน้อย ๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้
เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้
ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้นอีก มีอินทรีย์แก่กล้าเต็มที่
อิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 บำเรอตนอยู่ด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ ชวนใจให้กำหนัด ด้วยเสียงที่พึงรู้
แจ้งทางหู ... ด้วยกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... ด้วยรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ด้วย
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
ชวนใจให้กำหนัด เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่
มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอด
เยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า1 เป็นพระผู้มี
พระภาค2 ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น3 มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศ พรหมจรรย์4พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์5ครบถ้วน”

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 11 (เสนาสนสูตร) หน้า 17 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 11 (เสนาสนสูตร) หน้า 17 ในเล่มนี้
3 มีความงามในเบื้องต้น หมายถึงศีล มีความงามในท่ามกลาง หมายถึงอริยมรรค มีความงามในที่สุด
หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. 190/159)
4 พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย 10 ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ (การ
ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต) เมถุน-
วิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร
อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมายถึงศาสนา
(ที.สี.อ. 190/160-162)
5 บริสุทธิ์ หมายถึงไม่มีสิ่งเป็นโทษที่จะต้องนำออก บริบูรณ์ หมายถึงเต็มที่แล้ว โดยไม่ต้องนำไปเพิ่มอีก
(ตามนัย วิ.อ. 1/1/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :234 }