เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
5. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น
6. เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่ง
ในอภิธรรม และอภิวินัย
7. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้
8. เป็นผู้น่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ เป็นผู้สำรวมดีในการนั่งใน
ละแวกบ้าน
9. เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
10. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใด ๆ
ย่อมอยู่สำราญโดยแท้
เถรสูตรที่ 8 จบ

9. อุปาลิสูตร
ว่าด้วยพระอุบาลีขออนุญาตอยู่ป่า
[99] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ปรารถนาจะอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่1”

เชิงอรรถ :
1 ป่าโปร่ง หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว 500 ธนู
ป่าทึบ หมายถึงที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. 2/31/30, องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :232 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
อยู่ลำบาก ทำวิเวก1ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะ
ชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ2ให้หวาดหวั่น อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่’ ผู้นั้นพึงหวัง
ข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลง3หรือจักฟุ้งซ่าน4’
เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่ ถ้ามีช้างใหญ่สูง 7 ศอก หรือ 7 ศอกครึ่งมาถึงเข้า
ช้างนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลัง
เล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้ว
พึงล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างนั้นมีร่างกายใหญ่ จึงต้องลงน้ำลึก
ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึงห้วงน้ำนั้นเข้า กระต่ายหรือเสือปลานั้นพึงคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นอะไรและช้างใหญ่เป็นอะไร ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้ว
ล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ กระต่าย
หรือเสือปลานั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยฉับพลัน ไม่ทันได้พิจารณา จำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า
‘จักจมลงหรือจักลอยขึ้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระต่ายหรือเสือปลานั้น มีร่าง
กายเล็ก ลงในห้วงน้ำลึกไม่ได้ ฉันใด
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน’ ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนยังนอนหงาย เล่นมูตรและคูถของตน เธอเข้าใจเรื่องนั้น
อย่างไร การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อนโดยทั่วไปหรือ”
พระอุบาลีกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
2 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
3 จมลง หมายถึงจมลงเพราะกามวิตก (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
4 ฟุ้งซ่าน หมายถึงฟุ้งซ่านเพราะพยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก (องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :233 }