เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 8. เถรสูตร
สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิดทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล
10. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล จึงเป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนา
บุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อาหุเนยยสูตรที่ 7 จบ

8. เถรสูตร
ว่าด้วยคุณธรรมของพระเถระ
[98] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม 10 ประการ จะอยู่ใน
ทิศใด ๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุเถระ
1. เป็นรัตตัญญู1 บวชมานาน
2. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
3. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
4. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้2ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร
วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ

เชิงอรรถ :
1 รัตตัญญู ในที่นี้หมายถึงรู้ราตรีนาน คือ บวช รู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพ (องฺ.เอกก.อ. 1/188/122)
2 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 33 (อุพพหิกาสูตร) หน้า 84 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :231 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
5. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น
6. เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่ง
ในอภิธรรม และอภิวินัย
7. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้
8. เป็นผู้น่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ เป็นผู้สำรวมดีในการนั่งใน
ละแวกบ้าน
9. เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
10. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใด ๆ
ย่อมอยู่สำราญโดยแท้
เถรสูตรที่ 8 จบ

9. อุปาลิสูตร
ว่าด้วยพระอุบาลีขออนุญาตอยู่ป่า
[99] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ปรารถนาจะอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่1”

เชิงอรรถ :
1 ป่าโปร่ง หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว 500 ธนู
ป่าทึบ หมายถึงที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. 2/31/30, องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :232 }