เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 6. โกกนุทสูตร
เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง ข้อว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจาก
ตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ...
หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
นี้เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง ผู้มีอายุ ทิฏฐิ1 มูลเหตุแห่งทิฏฐิ2 ทิฏฐิที่ยึดมั่น3 ทิฏฐิที่กลุ้มรุม4
ความเพิกถอนทิฏฐิ5 มีประมาณเท่าใด เรารู้ เราเห็นทิฏฐิเป็นต้นนั้นประมาณเท่านั้น
เรารู้ทิฏฐิเป็นต้นนั้นจึงกล่าวว่า ‘รู้อยู่’ เราเห็นทิฏฐิเป็นต้นนั้นจึงกล่าวว่า ‘เห็นอยู่’
เราจะกล่าวว่า ‘ไม่รู้ ไม่เห็น’ ได้อย่างไร ผู้มีอายุ เรารู้อยู่ เห็นอยู่”
“ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเรียกท่านว่าอย่างไร”
“ผู้มีอายุ เราชื่อ ‘อานนท์’ และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็เรียกเราว่า ‘อานนท์’
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าสนทนาอยู่กับอาจารย์ใหญ่ แต่ไม่รู้เลยว่าเป็น ‘ท่าน
อานนท์’ ถ้าข้าพเจ้าจะพึงรู้ว่า ‘ท่านผู้นี้คือท่านอานนท์’ ข้าพเจ้าก็จะไม่กล่าวตอบโต้
ถึงเพียงนี้ ขอท่านอานนท์จงยกโทษให้ข้าพเจ้าเถิด”
โกกนุทสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 62 ประการ (องฺ.ทสก.อ. 3/96/369)
2 มูลเหตุแห่งทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงมูลเหตุทิฏฐิ 8 ประการ คือ ขันธ์ อวิชชา ผัสสะ สัญญา วิตก อโยนิโส
มนสิการ ปาปมิตร และปรโตโฆสะ(การฟังอสัทธรรมจากผู้อื่น) (องฺ.ทสก.อ. 3/96/369)
3 ทิฏฐิที่ยึดมั่น นี้เป็นชื่อของทิฏฐิที่ครอบงำสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. 3/96/369)
4 ทิฏฐิที่กลุ้มรุม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 18 ประการ คือ (1) ทิฏฐิ(ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง)
(2) การตกอยู่ในทิฏฐิ (3) ความรกชัฏคือทิฏฐิ (4) ความกันดารคือทิฏฐิ (5) เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ
(6) ความดิ้นรนคือทิฏฐิ (7) เครื่องผูกคือทิฏฐิ (8) ลูกศรคือทิฏฐิ (9) ความคับแค้นคือทิฏฐิ (10)
ความกังวลคือทิฏฐิ (11) เครื่องจองจำคือทิฏฐิ (12) เหวคือทิฏฐิ (13) อนุสัยคือทิฏฐิ (14) ความ
เดือดร้อนคือทิฏฐิ (15) ความเร่าร้อนคือทิฏฐิ (16) เครื่องร้อยรัดคือทิฏฐิ (17) อุปาทานคือทิฏฐิ, ความ
ยึดมั่นคือทิฏฐิ (18) ความยึดมั่นถือมั่นคือทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. 3/96/369, ขุ.ป.อ. 127-128/53) และ
ดู ขุ.ป. 29/12/40
5 ความเพิกถอนทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค ที่ชื่อว่า ทิฏฐิสมุคฆาตะ เพราะถอนทิฏฐิได้ทั้งหมด
(องฺ.ทสก.อ. 3/96/369)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :228 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 7. อาหุเนยยสูตร
7. อาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
[97] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 10 ประการ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขา-
บททั้งหลาย
2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ
ถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
3. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
4. เป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบ
5. แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคน
แสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง
และภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่น
ดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน
ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจ
ทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
6. ได้ยินเสียง 2 ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้
ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :229 }